ความเหลื่อมล้ำ
แม้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยจะก้าวหน้าอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังเข้าไม่ถึงประชากรทั้งหมดได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยยังมีบางภูมิภาคและประชากรบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 พบว่าเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กที่หัวหน้าครอบครัวไม่พูดภาษาไทย เด็กในครอบครัวยากจน และเด็กที่พ่อแม่มีการศึกษาน้อย มักจะมีความล้าหลังกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งทางด้านสุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาโดยรวม
ไม่ควรมีเด็กคนใดใช้ชีวิตอยู่กับความยากจน
ความยากจน
ความยากจนส่งผลกระทบต่อเด็กยิ่งกว่าประชากรยากจนกลุ่มอื่น กล่าวคือ ในขณะที่อัตราความยากจนโดยรวมใน พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 10.5 อัตราความยากจนสำหรับเด็กอายุระหว่าง 0-17 ปีกลับอยู่ที่ร้อยละ 13.8 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีอัตราความยากจนของเด็กสูงที่สุดในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2557 มีเด็กประมาณสองล้านคนในประเทศไทยอาศัยอยู่กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
ความยากจนพรากสิทธิขั้นพื้นฐานไปจากเด็ก ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย และถูกแสวงประโยชน์ ทั้งยังพรากโอกาสของเด็กในการได้รับโภชนาการที่เหมาะสม การมีสุขภาพที่ดีและการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จะถูกส่งต่อไปยังรุ่นถัดไป