การยกระดับความปลอดภัยเป็นวงจรของการพัฒนาซึ่งอาจพิจารณาได้เป็น 3 ระดับ ตามลำดับ ดังนี้
- ระดับพื้นฐาน โดยใช้ ESPReL Checklist เป็นเครื่องมือสำรวจสภาพการจัดการความปลอดภัยว่า มีจุดแข็ง จุดอ่อน มากน้อยเพียงใดในแต่ละด้าน โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ จนผ่านเกณฑ์พื้นฐานได้ทั้งหมด จึงถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการสร้างให้เกิดความปลอดภัยระดับพื้นฐาน
- ระดับต้นแบบ เป็นการพัฒนาองค์ประกอบของความปลอดภัยที่เป็นจุดแข็ง ทั้งในภาพรวมหรือเฉพาะด้านของแต่ละองค์ประกอบ โดยการทำให้องค์ประกอบของความปลอดภัยเกิดขึ้นจนเห็นเป็นรูปธรรมทั้งกระบวนการและผลผลิต
- ระดับมาตรฐานชาติ/สากล หากห้องปฏิบัติการสามารถดำเนินการให้มีระบบบริหารจัดการความปลอดภัยเพื่อรักษาความเป็นต้นแบบให้ต่อเนื่องและยั่งยืนตามกระบวนการ PDCA และสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในมาตรฐานชาติซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ด้วย ก็จะถือว่าห้องปฏิบัติการนั้นยกระดับจนมีความปลอดภัยเป็นระดับมาตรฐานชาติ/สากล
บันได 3 ขั้น แสดงการยกระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ
(อ้างอิงจาก คณะกรรมการความปลอดภัยด้านเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.), 2560.)
“ โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย ” เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเสนอแนวปฏิบัติในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ดำเนินงานโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับเป็นที่ปรึกษาโครงการระยะเวลา 1 ปี (31 พฤษภาคม 2554 - 31 พฤษภาคม 2555) แนวคิดการดำเนินงานใช้กระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการสร้างภาคีของหน่วยงานและห้องปฏิบัติการนำร่อง เพื่อร่วมมือกันรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลฐานความรู้ และจัดทำ “ร่างแนวปฏิบัติห้องปฏิบัติการวิจัยที่ดี” มีการทดลองใช้ร่างแนวปฏิบัติฯ ทำการปรับแก้จนเป็นที่ ยอมรับและปฏิบัติได้ เครื่องมือที่เป็นรูปธรรม คือ ห้องปฏิบัติการต้นแบบที่ดำเนินงานวิจัยโดยมีแนวปฏิบัติห้องปฏิบัติการวิจัยที่ดี และขับเคลื่อนให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการวิจัย
ในการดำเนินงานโครงการนี้ มีแผนการดำเนินงานตามรายละเอียดที่เสนอไว้ในเมนู แนะนำโครงการ ซึ่งมีแผนการดำเนินงงานเป็น 3 ระยะ รวม 5 ปี ในระยะที่ 1 เป็นการสร้างภาคีห้องปฏิบัติการนำร่อง และพัฒนาแนวปฏิบัติ ซึ่งมี 4 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ประกอบด้วยการจัดทำกรอบคิดแนวปฏิบัติฯ กลาง
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการจัดทำแนวปฏิบัติฯ และดัชนีชี้วัด (Checklist) ซึ่งมีรายละเอียดตามที่ปรากฏในเมนู ESPReL Checklist และเมนู คำอธิบายการกรอก Checklist
องค์ประกอบด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี
ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ เพื่อให้บุคลากรในห้องปฏิบัติการสามารถสำรวจสถานภาพความปลอดภัยได้ด้วยตนเอง ESPReL Checklist
องค์ประกอบที่ 1 การบริหารระบบการจัดการด้านความปลอดภัย : ประกอบด้วย นโยบาย แผนงาน และโครงสร้าง ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยถ่ายทอดลงมาเป็นนโยบายและแผนปฏิบัติงานแต่ละระดับการบริหารงาน ซึ่งแต่ละคณะ/หน่วยงานจะมีรายละเอียดเฉพาะเจาะจงตามลักษณะการปฏิบัติงานของแต่ละแห่งได้รวมทั้งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้เป็นรูปธรรม
องค์ประกอบที่ 2 ระบบการจัดการสารเคมี : จัดทำสารบบสารเคมี (Chemical Inventory) เพื่อให้มีระบบการจัดการสารเคมีที่ดีภายในห้องปฏิบัติการ ทั้งระบบข้อมูล การจัดเก็บ การเคลื่อนย้ายสารเคมี และการจัดการสารที่ไม่ใช้แล้ว ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของข้อมูลสารเคมี และควบคุมความเสี่ยงจากอันตรายของสารเคมี หัวใจสำคัญของการจัดการสารเคมีในอันดับแรกคือ "สารบบสารเคมี" ข้อมูลสารเคมี เมื่อประมวลจัดทำรายงานเป็นระยะๆ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการจัดความเสี่ยง การแบ่งปันสารเคมี รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ และจัดสรรงบประมาณ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดโปรแกรมการจัดการข้อมูลสารเคมีและของเสีย (http://chemwaste.enit.kku.ac.th/ ) ซึ่งเป็นโปรแกรม ChemTrack & WasteTrack 2016 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ให้บริการ
องค์ประกอบที่ 3 ระบบการจัดการของเสีย : จัดทำระบบข้อมูล การจำแนกและการเก็บ เพื่อรอการกำจัด/บำบัด ซึ่งสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของของเสีย ข้อมูลนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ การประเมินความเสี่ยงอันตรายของของเสีย ตลอดจนการเตรียมงบประมาณในการกำจัด ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดทำเกณฑ์การแยกประเภทของเสียห้องปฏิบัติการที่ใช้สารเคมีและขั้นตอนการจำแนกไว้แล้ว https://kku.world/kkulabwaste โดยห้องปฏิบัติการต้องแยกประเภทของเสียอันตรายตามเกณฑ์ที่กำหนด เก็บในภาชนะที่ระบุประเภทของเสีย ปริมาณ แหล่งที่มา และผู้รับผิดชอบ มีการนัดหมายกับผู้ประสานงาน เพื่อรวบรวมส่งของเสียไปกำจัดโดยหน่วยงานภายนอกที่ได้รับอนุญาต
องค์ประกอบที่ 4 ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และเครื่องมือ : ประกอบด้วยข้อมูลเชิงสถาปัตยกรรมภายในและภายนอกอาคาร ข้อมูลเชิงวิศวกรรม วัสดุที่ใช้ ระบบสัญจร ระบบไฟฟ้าและระบบระบายอากาศ ระบบสาธารณูปโภค และระบบฉุกเฉิน การดูแลรักษาและพร้อมใช้งานของอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆรวมทั้งระบบงานต่างๆด้วย
องค์ประกอบที่ 5 ระบบการป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย : เริ่มต้นจากการระบุปัจจัยเสี่ยงและการประเมินความเสี่ยง จัดทำแผนป้องกันและเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน การปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด การฝึกซ้อมและตรวจสอบพื้นที่/อุปกรณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน แผนผังทางหนีไฟ อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยโดยทั่วไปและระเบียบปฏิบัติเฉพาะของแต่ละห้องปฏิบัติการ
องค์ประกอบที่ 6 การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับด้านความปลอดภัย : การพัฒนาบุคลากรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง โดยมีการสร้างความตระหนักและความรู้พื้นฐานที่เหมาะสม จำเป็นและต่อเนื่อง ตั้งแต่ ผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักวิจัย นักศึกษา พนักงานทำความสะอาด ผู้เข้าเยี่ยมชม หรือผู้ที่มาใช้บริการเป็นครั้งคราว รวมทั้งพนักงานบำรุงรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ ต่างๆ และ ช่างผู้รับเหมา ที่เข้ามาดำเนินการในบริเวณห้องปฏิบัติการหรือพื้นที่ใกล้เคียง มีความเสี่ยงอันตรายจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป้าหมายของการให้ความรู้นั้นคือให้ทุกคนมีความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้
องค์ประกอบที่ 7 การจัดการข้อมูลและเอกสาร : เพื่อความสะดวกในการบันทึกเก็บรวบรวมประมวลผลและค้นหามาใช้ได้ทันกาล สามารถสื่อสารให้เข้าใจตรงกันได้เมื่อเปลี่ยนผู้รับผิดชอบ มีการกำหนดระดับผู้รับผิดชอบ โครงสร้างของระบบการบันทึกข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลและเอกสาร ประกอบด้วย รหัสเอกสาร ชื่อเอกสาร ประเภทของเอกสาร (ควบคุม – ไม่ควบคุม) ผู้รับผิดชอบ ผู้ครอบครอง สถานที่จัดเก็บ วันที่บันทึกข้อมูล และปรับปรุงข้อมูล เป็นเอกสารที่ใช้ปฏิบัติงานฉบับล่าสุด และเข้าถึงได้ง่าย โดยจัดเก็บในรูปของเอกสารหรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และมีบัญชีหลักของเอกสาร (Master list)
วช. ได้จัดทำระบบสารสนเทศความปลอดภัยห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ดังนี้
1. ESPReL Checklist https://labsafety.nrct.go.th/
เป็นระบบสำหรับประเมินสภาพความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้วยตนเองแบบออนไลน์ ซึ่งสามารถประมวลผลได้แบบ real-time รวมถึงบริการออกเลขทะเบียนห้องปฏิบัติการ และจัดเก็บข้อมูลห้องปฏิบัติการในระบบเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
2. Smartlab https://smartlabsafety.nrct.go.th/kku
เป็นระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านความปลอดภัยห้องปฏิบัติการของประเทศที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการบริหารจัดการความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ให้มีความสะดวกและรวดเร็วต่อการใช้งานโดยสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลองค์ประกอบความปลอดภัยในห้องปฏบิัติการได้อย่างบูรณาการไร้รอยต่อ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถบันทึกและติดตามข้อมูลที่สำคัญในด้านความปลอดภัยได้แบบ real-time เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และเอื้อต่อการขยายผลการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการของประเทศไทยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
3. E-Learning https://elearning-labsafety.nrct.go.th/
เป็นระบบการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่เรียน เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรที่ใช้ห้องปฏิบัติการต่างๆ สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจด้านความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้วยตนเอง
การตรวจประเมินและรับรองการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี มี 2 รูปแบบ
1. Peer evaluation การยอมรับในกลุ่มสมาชิก lab safety
การยอมรับร่วม (Peer evaluation) มีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเจ้าของโครงการ (scheme owner) มอบหมายหน่วยบริหารจัดการความตกลงร่วม (กลุ่มสมาชิกห้อง lab) เป็นผู้ตรวจประเมินตาม ESPReL checklist ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการตรวจและรับรองผ่านเกณฑ์ประเมินแล้ว จะถือว่าเป็นภาคีความตกลงร่วมของระบบตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบ Peer evaluation (เน้นส่งเสริมห้อง lab ภาครัฐและภาคการศึกษา)
ซึ่งโครงการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบ Peer evaluation : phase 3 นี้ ดำเนินงานโดย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Website : https://en.mahidol.ac.th/peerevaluation
2. Certification การยอมรับในระดับประเทศ
การรับรอง (Certification) มีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body : AB) ให้การรับรอง หน่วยรับรอง (Certification Body : CB) ในการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการตาม มอก.2677 (เน้นส่งเสริม ห้อง lab ในภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นที่มีความประสงค์ รวมห้องปฏิบัติการในสถาบันการศึกษาด้วย)
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก.๒๖๗๗-๒๕๕๘)