เมื่อวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ศูนย์เครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดสัมมนาบุคลากร นักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลเครื่องมือวิจัย/การฝึกอบรม หลักสูตร "การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน" (OPERATING MANUAL WRITING WORKSHOP) ศูนย์เครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 1 ขึ้น ห้องประชุมสารสิน และกัลปพฤกษ์ 7 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.วีระชัย โควสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มข. ประธานกรรมการบริหารศูนย์เครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ ซึ่งมีบุคลากร นักวิทยาศาสตร์ภายใต้ศูนย์เครื่องมือวิจัยเข้าร่วมกว่า 23 คน
ศ.นพ.วีระชัย โควสุวรรณ กล่าวถึงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า “ศูนย์เครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการรับนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเข้าร่วมเป็นบุคคลากรในตำแหน่งคณะอนุกรรมการประจำเครื่องมือ ศูนย์เครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้า บุคลากรประจำศูนย์เครื่องมือวิจัยเป็นบุคลากรที่มาจากต่างหน่วยงาน ต่างคณะ ต่างภาควิชา ดังนั้น การสร้างความเข้าใจ เล็งเห็นถึงความสำคัญขององค์กร เป้าหมาย พันธกิจ จึงมีความสำคัญยิ่งต่อบุคลาการในองค์กร เพื่อก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรอีกด้วย สืบเนื่องจากบุคลากรประจำเครื่องมือวิจัยกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนสำคัญที่คอยขับเคลื่อนองค์กรโดยมีหน้าที่ให้บริการเครื่องมือวิจัย ทำหน้าที่เป็นวิทยากรจำเครื่องมือ และหน้าที่อื่น ๆ ที่ตนรับผิดชอบเกี่ยวกับเครื่องมือชนิดนั้น ๆ และจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ประจำเครื่องมือวิจัยซึ่งถือเป็นหัวใจหลักขององค์กรนั้น ด้วยเหตุนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคลากร ตามโครงการในการสร้างแผนพัฒนานักวิทยาศาสตร์ประจำเครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2557 ขึ้น โดยให้บุคลากรสามารถเขียนแผนคู่มือปฏิบัติงาน (SOP) ของตนเองได้ และนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างแรงจูงใจของบุคลากรประจำเครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นการสร้างทักษะ เพิ่มประสิทธิภาพของบุคคล และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
กิจกรรมการสัมมนาบุคลากร ได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการบรรยาย อ.จรินทร์ รุจิเกียรติกำจร และ อ.วิบูลย์ ธีระมังคลานนท์ ที่บรรยายในหัวข้อที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ โครงสร้าง Procedure Manual และ การเขียน PM ของกระบวนการหลัก (Core Process) และ Workshop ,การเขียน PM ของกระบวนการสนับสนุน (Support Processes) และ Workshop , โครงสร้างเอกสารในระบบคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความกันเอง มีการซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน
อ. ดร. รินา ภัทรมานนท์ กรรมการและเลขานุการศูนย์เครื่องมือวิจัย ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวถึงผลที่ได้รับจากการสัมมนาในครั้งนี้ว่า “บุคลากร นักวิทยาศาสตร์ภายใต้ศูนย์เครื่องมือวิจัยมีวิสัยทัศน์ และองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ การเขียน SOP เพื่อใช้ผลงานในการทำวิจัยสถาบันหรือการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) และนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจตรงกันในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านการทำงาน โดยเชื่อมโยงกับส่วนกลาง ศูนย์เครื่องมือวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนั้น บุคลากรจะได้ประสานความสัมพันธ์ระหว่างบุคลลากรในองค์กรเดียวกัน มีความสนิทสนมกันยิ่งขึ้นเพื่อง่ายต่อการทำงานในอนาคต และได้นำสิ่งที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการให้บริการจัดการเครื่องมือที่ตนได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรต่อไป”